วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คอมพิวเตอร์


ความหมายของคอมพิวเตอร์


พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ คอมพิวเตอร์ ” ไว้ว่า “ คอมพิวเตอร์ น. เครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนสมองกล ใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์ (อ. Computer) ” (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 : 237)

ซึ่งในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ทำงานแทนมนุษย์ในด้านต่างๆ ในด้านงานการคำนวณ งานกราฟิก การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล การจัดการกับสัญลักษณ์ข้อมูล การเปรียบเทียบทางตรรกศาสตร์ การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงความบันเทิงทั้งภาพและเสียง


ความเป็นมาของคอมพิวเตอร์ (กิดานันท์  มลิทอง 2548 : 208-210)
  
นับตั้งแต่ชาวจีนได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยในการคำนวณเมื่อราวหนึ่งพันปีก่อนคริสต์ศักราช และต่มาได้มีผู้สร้างเครื่องคำนวณที่ใช้รหัสในการบันทึกข้อมูลและใช้บัตรในการบันทึกข้อมูลนั้น นับได้ว่าเป็นเริ่มแรกของการประดิษฐ์คิดค้นเกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการใช้งาน และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา ได้มีผู้ประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมามากมายหลายขนาด ทำให้เป็นการเริ่มยุกของคอมพิวเตอร์ โดยสามารถจัดแบ่งคอมพิวเตอร์ออกได้เป็น 5 ยุค ดังนี้


ยุคแรก พ.ศ. 2494 -2501 : หลอดสุญญากาศ ในปี พ.ศ. 2490 เมาซ์ลีและเอ็กเคอร์ต (Mauchly and Eckert) ได้ประดิษฐ์คอมพิวเตอร์คอมพิวเตอร์ขึ้นมาเครื่องหนึ่งเรียกว่า ENIAC (Electronic Numerical Integrator and Calculator) ซึ่งได้แนวคิดจากการประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่เครื่องคำนวณของซอฟฟ์และแบรี (Atanas0ff and Berry) ต่อมาเมาซ์ลีและเอ็กเคอร์ตได้ทำการปรับปรุงการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น คือ คอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานทางด้านธุรกิจเรียกว่า เครื่อง UNIVAC (Universal Automatic Computer) และนำออกใช้ในวันที่ 14 กรกฏาคม 2495 ซึ่งนับเป็นการเริ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรก คอมพิวเตอร์ในยุคนี้ใช้หลอดสุญญากาศในการควบคุมการทำงานของเครื่อง ซึ่งทำงานได้อย่างรวดเร็วแต่ขนาดใหญ่มากและราคาแพง ยุคแรกของคอมพิวเตอร์สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2502 เมื่อมีผู้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์มาใช้แทนหลอดสุญญากาศ


ยุคที่สอง พ.ศ. 2502 -2507 : ทรานซิสเตอร์ ในปี พ.ศ. 2490 จอห์น บาร์ดีน (John Bardeen) ได้พัฒนาทรายซิสเตอร์ซึ่งใช้วัสดุเซมิคอนดักเตอร์ที่สามารถทำงานแทนหลอดสุญญากาศได้และใช้เนื้อที่น้อยกว่ามาก จึงมีการนำทรายซิสเตอร์มาใช้ในคอมพิวเตอร์ ทำให้เครื่องมีขนาดเล็กลงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น การใช้ทรายซิสเตอร์นอกจากจะมีราคาแพงแล้วยังมักจะประสบปัญหามากมาย จึงมีการใช้อยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ


ยุคที่สาม พ.ศ. 2408 -2512 : วงจรรวม ในปี พ.ศ. 2408 ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นเกี่ยวกับวงจรรวม (integrated-circuit) หรือเรียกว่า “ ไอซี ” (IC) ไอซีทำให้ส่นประกอบและวงจรต่างๆ สามารถวางได้บนชิป (chip) เล็กๆ เพียงแผ่นเดียว จึงมีการนำชิปใช้แทนทรานซิสเตอร์ ทำให้ประหยัดเนื้อที่และเพิ่มความเร็วในการทำงานมากขึ้น


ยุคที่สี่ พ.ศ. 2413 -2523 : ไมโครโพรเซสเซอร์ เป็นยุคที่นำสารกึ่งตัวนำมาสร้างเป็นวงจรความจุสูงมาก (Very Large Scale Integrated : VLSI) ซึ่งสามารถย่อส่วนไอซีธรรมดาหลายๆ วงจรเข้ามาอยู่ในวงจรเดียวกัน และมีการประดิษฐ์ไมโครโพรเซสเซอร์ (microprocessor) ขึ้นมาใช้งาน ในปี พ.ศ. 2514 ดร.เท็ด ฮอฟฟ์ (TedHoff) จากบริษัทอินเทลได้พัฒนาชิปอินเทล 4004 ขึ้น และเมื่อนำมาประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ จึงทำให้เครื่องมีขนาดเล็กราคาถูกลง มีความสามารถในการทำงานสูงและรวดเร็วมาก จึงเรียกเครื่องคอมพิวเตอร์ในสมัยนี้ว่า “ ไมโครคอมพิวเตอร์ ” (microcomputer)

ยุคที่ห้า พ.ศ. 2524 –ปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการพัฒนาไมโครโพรเซสเซอร์ให้มี การทำงานเร็วมากขึ้นและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 พัฒนาการของรูปแบบ ขนาด และความเร็วในการทำงานของคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากในยุคนี้ การใช้งานคอมพิวเตอร์ปรับให้เป็นรูปแบบอเนกประสงค์มากขึ้น โดยเพิ่มจากการประมวลและจัดเก็บข้อมูล แต่เพียงอย่างเดียวมาใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงและเป็นอุปกรณ์สื่อสารทั้งแบบใช้สายและแบบ ไร้สาย มีการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์หลายเครื่องให้ทำงานร่วมกันและติดต่อกันได้โดยตรงในลักษณะเครือข่ายเฉพาะที่ เครือข่ายนครหลวง และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการใช้ความเป็นเสมือนจริง มีการประดิษฐ์คิดค้นให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์และให้คิดได้อย่างมนุษย์ในรูปแบบของ “ ปัญญาประดิษฐ์ ” (Artificial Intelligence : AI) เพื่อการแก้ปัญหาต่างๆ และนาโนเทคโนโลยี จะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของคอมพิวเตอร์ในอนาคต

การใช้คอมพิวเตอร์ในวงการศึกษา


วงการศึกษาเริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกในระยะประมาณปลายทศวรรษที่ 1950s ซึ่งขณะนั้นมหาวิทยาลัยใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้งานด้านบริหาร ขณะเดียวกันก็มีผู้นำคอมพิวเตอร์มาใช้งานเกี่ยวกับการวิจัยการเรียนการสอน เช่น โครงการเพลโต (PLATO) ที่มหาวิทยาลัยอิลลินนอยส์ สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2503 โดยมีวัตถุประสงค์ในการออกแบบการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน


การใช้คอมพิวเตอร์ในวงการศึกษา สถาบันการศึกษาในระดับโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยได้มีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลายเมื่อมี การประดิษฐ์ไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้ เนื่องจากเป็นเครื่องขนาดเล็กและราคาไม่สูงเกินไปนักที่สถาบันการศึกษาต่างๆ จะซื้อไว้ใช้ คอมพิวเตอร์จึงเป็นอุปกรณ์ที่ทรงอนุภาพยิ่งที่สามารถนำมาใช้ในการศึกษาเล่าเรียนได้มากมายหลายทาง บทบาทของคอมพิวเตอร์ตามแบบจำลอง “ tutor , tool , tutee model ” (Taylor , 1980 อ้างถึงใน Newby , and Other, 2000 : 43) ได้แบ่งการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ โดยใช้ในบทบาทของ “ ผู้สอน ” (teacher) “ ผู้ช่วย ” (assistant) และ “ ผู้เรียน ” (learner) ในบทบาทของ “ ผู้สอน ” จะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์นำเสนอเนื้อหาบทเรียนแก่ผู้เรียน ในบทบาทของ “ ผู้ช่วย ” เป็นการใช้คอมพิวตอร์เป็นเครื่องมือ (tool) ช่วยการทำงานของผู้สอนและผู้เรียน เช่น การพิมพ์รายงาน การจัดทำฐานข้อมูล ฯลฯ และในบทบาทของ “ ผู้เรียน ” เป็นการที่ผู้สอนหรือผู้เรียน “ สอน ” คอมพิวเตอร์ในการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ปัจจุบันการพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้การแบ่งบทบาทเหล่านี้เห็นได้ไม่ชัดเจนนักแต่จะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในทุกบทบาทเหล่านี้ได้


การใช้คอมพิวเตอร์ในทฤษฏีการเรียนรู้ จากทฤษฏีการเรียนรู้ของกลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มพุทธนิยม และกลุ่มสร้างสรรค์นิยม ทั้งในเชิงความรู้ความเข้าใจและเชิงสังคมที่มีความเกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีการศึกษา ทำให้เห็นได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่สามารถตอบสนองการเรียนรู้ตามหลักทฤษฏีเหล่านั้นได้อย่างดียิ่ง แนวทางการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนปัจจุบันค่อนข้างจะมีแนวโน้มเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมเชิงสังคม (socially-oriented environments) และจากเครื่องมือระบบปิดเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ที่ใช้งานได้หลายประเภท (Chee and Wong, eds., 2003 : 86) เช่น แต่เดิมมักมีการใช้บทเรียน CAI ประเภททบทวน การฝึกหัด การจำลอง ฯลฯ ในการเรียนรายบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ปัจจุบันจะใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารหรือเรียนรู้ร่วมกันกับผู้เรียนอื่นๆ ทั้งในสถาบันเดียวกันหรือสถาบันอื่นทั้งในประเทศและทั่วโลก นอกจากนี้ การใช้บทเรียน CAI เหล่านั้นจะปิดกั้นอยู่ระหว่างผู้เรียนกับบทเรียนโดยผู้เรียนจะเรียนอยู่เพียงภายในขอบข่ายเนื้อหาที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากใช้ซอฟต์แวร์ที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ร่วมกันได้ การใช้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจึงเปิดกว้างมากขึ้นทั้งในรูปแบบการใช้งานและผนวกกับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อสามารถตอบสนองกับการเรียนรู้ตามหลักทฤษฏีการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพดังสรุปได้ดังนี้ (กิดานันท์ มลิทอง 2548 : 217-219)

        ทฤษฏีการเรียนรู้                                       การใช้งานคอมพิวเตอร์
        กลุ่มพฤติกรรมนิยม :                              ซอฟต์แวร์การฝึกหัด  การเรียนด้วยบทเรียน  CAI
        สิ่งเร้าและการตอบสนอง

        กลุ่มพุทธินิยม : การประมวล                 ซอฟต์แวร์การสอน/ทบทวน  ฐานข้อมูลเนื้อหา
        และส่งผ่านสารสนเทศ                           บทเรียน  เช่น  สารานุกรม  ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต

        กลุ่มสร้างสรรค์นิยมเชิง                         ซอฟต์แวร์เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานรายบุคคล เช่น
        ความรู้ความเข้าใจ : การค้นหา               ซอฟต์แวร์ประมวลคำ  ซอฟต์แวร์การนำเสนอ และ
        ความรู้ด้วยตนเอง                                   ซอฟต์แวร์สื่อหลายมิติ

        กลุ่มสร้างสรรค์นิยมเชิงสังคม :              ซอฟต์แวร์เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานเป็นกลุ่ม  เช่น
        การเรียนรู้ร่วมกัน                                   ซอฟต์แวร์ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์  ซอฟต์แวร์กราฟิก
                                                                       ซอฟต์แวร์การแก้ปัญหา  การสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต
                                                                        เช่น อีเมล  เว็บบอร์ด  การสนทนาสด

องค์ประกอบในการออกแบบการสอนทางคอมพิวเตอร์


การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะต้องพิจารณาและคำนึงถึงเพื่อใช้ในการออกแบบการสอนทางคอมพิวเตอร์ ดังนี้ (นิคม ทาแดง 2537 : 178)


เครื่องคอมพิวเตอร์ (Hard ware) ไม่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีขนาดเล็ก (Microcomputer) ขนาดกลาง (Minicomputer) และขนาดใหญ่ (Main fame computer) ก็จะมี


ส่วนประกอบดังนี้


1) CPU (Central Processing Unit) เปรียบเสมือน " สมอง " ของคอมพิวเตอร์ ที่ควบคุมทั้งหมดและการคำนวณทั้งหมด


2) Memory เป็นส่วนที่เก็บข้อมูลที่จัดดำเนินการโดย CPU ส่วนนี้บรรจุโปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อควบคุมและบอกให้ CPU ทำงานอะไรบ้างและเป็นลำดับอย่างไร คำสั่งนั้นจะแยกได้เป็น Memory 2 ประเภท คือ ROM (Read Only Memory) และ RAM (Random Access Memory)


3) Storage เป็นวิธีเก็บโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้อยู่ ซึ่งแหล่งเก็บจะมี 2 แบบ คือ เทปคาสเซท (Cassette tape) และดิสก์ (Disk)


4) Input มีความหมายถึง การใส่ข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ เครื่องมือใส่ข้อมูลโดยทั่วไป เช่น Keyboard, joysticks, paddles หรือแผ่นตารางกราฟิก (Graphic tablets)


5) Output หมายถึง การแสดงผลโปรแกรมออกมา โดยทั่วไปของ ไมโครคอมพิวเตอร์ก็คือ บนจอทีวี (Television monitor) นอกจากนั้นอาจต่อเข้าเครื่องพิมพ์ (Printer) เพื่อให้แสดงผลเป็นตัวพิมพ์บนกระดาษได้ (วารินทร์ รัศมีพรหม 2531 : 196-197)


โปรแกรมใช้เครื่อง (Soft ware) ได้แก่ โปรแกรมสำเร็จเพื่อใช้ในการ ออกแบบและสร้างโปรแกรมการสอน ซึ่งมีผู้ผลิตออกมาจำหน่ายหรือให้บริการมากมาย ต้องเลือกให้เหมาะสมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะใช้และโปรแกรมการสอนที่จะออกแบบด้วย (นิคม ทาแดง 2537 : 178)


โปรแกรมการสอน (Course ware) ได้แก่โปรแกรมการสอนที่จะออกแบบว่าจะออกแบบโปรแกรมการสอนแบบใด ปัจจุบันโปรแกรมการสอนที่มีคุณภาพดียังหาได้ยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกมาใช้ให้ถูกต้องตรงกับจุดมุ่งหมาย และคุณลักษณะของผู้เรียน ในการเลือกโปรแกรมการสอนจึงอาจต้องค้นหาจากแหล่งต่างๆ และในการค้นหารายชื่ออาจค้นจาก Index ในข้อมูล


คอมพิวเตอร์ จากวารสารที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นควรได้อ่านสรุปวิเคราะห์ เรื่องราวของโปรแกรมการสอนทั้งจากวารสารหรือแหล่งต่างๆ ที่ได้ทำการวิเคราะห์ ถ้ามีโอกาสได้โปรแกรม การสอนนั้นมาก็ควรได้มีการทดลองใช้ดูก่อน ก่อนที่จะนำไปใช้ในการเรียนการสอนจริงและควรได้มี การประเมินคุณค่าตามแบบฟอร์มที่จัดทำไว้ด้วย ซึ่งการประเมินค่าโดยทั่วไปอาจคล้ายกับการประเมินคุณค่าของบทเรียนโปรแกรมเพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่อาจเพิ่มเกณฑ์ในเรื่องกราฟิก สีสัน การใช้ภาษาเข้าไปด้วย (วารินทร์ รัศมีพรหม 2531 : 196)


ในเรื่องของการออกแบบทางจอภาพนั้น ไฮนิค, โมเลนดา และรัสเซล (Heinich, Molenda and Russel, 1982) ได้ศึกษาถึงการเคลื่อนที่ของตาในการมองภาพ พบว่า คนเราจะมองสาระของภาพที่อยู่ในตำแหน่งซ้ายบนเป็นตำแหน่งแรก ถัดมาเป็นซ้ายล่าง ขวาบน และขวาล่าง ตามลำดับ และให้ข้อเสนอแนะว่าควรจัดสิ่งสำคัญหรือเนื้อหาที่ต้องการเน้นไว้ในตำแหน่งที่พบว่าคนจะมองเป็นอันดับแรก คือ ตำแหน่งซ้ายบน และจัดให้องค์ประกอบของภาพให้มีความสมดุลย์ และเป็นไปตามธรรมชาติของเนื้อหา ไบร์เลย์ (Bailey, 1982 : 348) เสนอแนะว่า จอคอมพิวเตอร์ควรมีเนื้อหาที่นำเสนอ 3 ใน 4 ของจอภาพ นอกจากนี้เรื่องของสีตัวอักษรก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อผู้ใช้โปรแกรมด้วย จากผลการวิจัยสีและขนาดของตัวอักษรบนสีพื้นที่มีต่อความเข้าใจในการอ่านบนจอคอมพิวเตอร์ พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความเห็นต่อสีที่ชอบและการอ่าน ตัวอักษรได้ง่ายที่มีค่าสูงสุด คือ ตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีดำในตัวอักษรขนาดเล็ก และตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีม่วงในตัวอักษรขนนาดใหญ่ มีค่ารองลงมา คือ ตัวอักษรสีเหลืองบนพื้นสีน้ำเงินในตัวอักษรขนาดเล็ก และตัวอักษรสีเขียวบนพื้นสีดำในตัวอักษรขนาดใหญ่ (ปวีณา ธิติวรนันทร์ 2538 : 51) ส่วนไบร์เลย์ (Bailey, 1982 : 335) ได้กล่าวถึงการใช้สีบนจอคอมพิวเตอร์ไว้ว่า สีของตัวอักษรและพื้นหลังควรสอดคล้องและเข้ากันได้ ไม่ควรกำหนดสีมากกว่า 2-3 สี ในการแสดงบนจอภาพในครั้งเดียว แต่ควรกำหนดสีเพียงสีเดียวในการแสดงตัวอักษรบนจอ เช่น ขาว เทา และดำ ซึ่งอาจรวมถึงสีเหลือง ส้ม และเขียวด้วย ส่วนสีน้ำเงินและสีแดงบั่นทอนสายตาในขณะที่อ่าน จึงควรใช้ในกรณีการเน้นคำ หรือทำให้ตัวอักษรเด่นชัดเหมาะสมกว่า ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมีความสอดคล้องกับทินเกอร์ (Tinker, 1969) ที่กล่าวว่าคู่สี (ตัวอักษรและพื้นหลัง) ที่มีความแตกต่างกันสูง จะทำให้เกิดการรับรู้ได้ง่าย


ลักษณะการใช้โปรแกรมการสอน มี 2 ลักษณะ คือ การใช้เป็นโปรแกรม การสอนแบบอิสระ (Stand alone) ซึ่งบันทึกโปรแกรมการสอนลงในแผ่นดิสก์เพื่อนำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดเดี่ยวๆ และใช้โปรแกรมการสอนแบบเครือข่าย (Network System) ซึ่งเชื่อมคอมพิวเตอร์แม่ข่ายกับคอมพิวเตอร์ลูกข่ายของผู้เรียนทั้งชั้นหรือผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งการออกแบบคอมพิวเตอร์ทั้งสองแบบนี้อาจมมีส่วนที่แตกต่างกันบ้าง จึงต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกลักษณะการใช้ไว้ตั้งแต่ต้น (นิคม ทาแดง 2537 : 178)


สรุปได้ว่า องค์ประกอบในการออกแบบการสอนทางคอมพิวเตอร์ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะต้องพิจารณาและคำนึงถึงเพื่อใช้ในการออกแบบการสอนทางคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ชนิดของเครื่องคอมพิวเตอร์ (Hard ware) โปรแกรมใช้เครื่อง (Soft ware) โปรแกรมการสอน (Course ware) และลักษณะการใช้โปรแกรมการสอน ซึ่งจะช่วยให้เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการการศึกษา


การใช้งานคอมพิวเตอร์ด้านการเรียนการสอนมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดในการใช้เพื่อการเรียนรู้เช่นเดียวกับสื่อประเภทอื่นๆ ดังนี้


ข้อดี


1) คอมพิวเตอร์จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจและกระตุ้นการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนด้วยบทเรียนหลากหลายรูปแบบและการใช้งานสื่อหลายมิติ


2) การใช้สี ภาพเคลื่อนไหว เสียงนานาประเภท จะเป็นการเพิ่มความเหมือนจริงและเร้าใจผู้เรียนให้เกิดความอยากเรียนรู้ ทำแบบฝึกหัด หรือกิจกรรมต่างๆ


3) ความสามารถในการบันทึกคะแนนและพฤติกรรมต่างๆ ของผู้เรียนจะช่วยในการวางแผนบทเรียนในขั้นต่อไปได้


4) ความสามารถในการเก็บข้อมูลของเครื่อง ทำให้สามารถนำมาใช้ได้ในลักษณะของการศึกษารายบุคคลได้เป็นอย่างดี โดยสามารถกำหนดบทเรียนให้แก่ผู้เรียนแต่ละคนและแสดงผลความก้าวหน้าให้เห็นได้ทันที


5) ลักษณะของโปรแกรมบทเรียนที่ให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้เรียน เป็นการช่วยให้ผู้เรียนที่เรียนช้า สามารถเรียนไปตามความสามารถของตนโดยสะดวกอย่างไม่รีบเร่ง โดยไม่ต้องอายผู้อื่น และไม่ต้องอายเครื่องเมื่อตอบคำถามผิด


6) เป็นการช่วยขยายขีดความสามารถของผู้สอนในการควบคุมผู้เรียนได้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสามารถบรรจุข้อมูลได้ง่าย และสะดวกในการนำออกมาใช้


7) ใช้ในการสื่อสารได้ทุกรูปแบบของข้อความ ภาพ และเสียง


ข้อจำกัด


1) ถึงแม้ว่าขณะนี้ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์และค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะลดลงมากแล้วก็ตาม แต่การพิจารณานำคอมพิวเตอร์มาใช้ในวงการศึกษาบางสถานที่นั้น ยังต้องคำนึงถึงความคุ้มกับค่าใช้จ่ายตลอดจนการดูแลรักษาด้วย


2) การออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนนั้นนับว่า ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับการออกแบบโปรแกรมเพื่อใช้ในวงการด้านอื่นๆ ทำให้โปรแกรมบทเรียนเพื่อการเรียนการสอนมีจำนวนและขอบเขตจำกัดที่จะนำมาใช้ในวิชาต่างๆ


3) ในขณะนี้ยังขาดอุปกรณ์ที่ได้คุณภาพมาตรฐานระดับเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างระบบกัน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ระบบของไอบีเอ็มกับเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบของแมกคินทอช


4) การที่จะให้ผู้สอนเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมบทเรียนเองนั้น นับว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลา สติปัญญา และความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เป็นการเพิ่มภาระของผู้สอนให้มีมากยิ่งขึ้น


5) เนื่องจากบทเรียนคอมพิวเตอร์เป็นการวางโปรแกรมบทเรียนไว้ล่วงหน้าจึงมีลำดับขั้นตอนในการสอนทุกอย่างตามที่วางไว้ ดังนั้น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงอาจไม่สามารถช่วยในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้มากเท่าที่ควร

6) ผู้เรียนบางคนโดยเฉพาะผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ อาจจะไม่ชอบโปรแกรมที่เรียนตามขั้นตอน ทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น